การเตรียมไฟล์งานเพื่อสั่งสกรีนเสื้อ

ขนาดและตำแหน่งของลายสกรีนเสื้อ

  • เสื้อยืดสกรีนระบบดิจิทัล
    บล็อกสกรีนจะมีสองขนาดคือ A4 และ A3 โดยสามารถเลือกตำแหน่งของลายสกรีนให้อยู่ตรงกลางเสื้อด้านหน้า ด้านหลัง หรือช่วงแขนก็ได้ (ตรงแขนสกรีนได้กว้างที่สุดไม่เกิน 11-12 cm)
  • เสื้อยืดผลิตตามสั่ง 100+ ตัว
    เราผลิตเสื้อขึ้นมาใหม่ และสกรีนด้วยเทคนิคซิลก์สกรีน (สียาง) คุณสามารถระบุสีของเสื้อ จำนวนและขนาดของลายสกรีน (ไม่เกิน A3/A4) แล้วแต่งบประมาณของทางลูกค้า โดยทางร้านรับสกรีนได้ช่วงอก กลางหลัง ต้นคอ หรือชายเสื้อ
แบบเสื้อเปล่า
คำเตือน : ไฟล์ PSD นี้มีขนาดใหญ่ (80MB) ครับ

ประเภทของไฟล์งานที่ใช้สกรีนลงบนเสื้อ

คุณลูกค้าสามารถออกแบบลายสกรีนในคอมพิวเตอร์ด้วยโปรแกรมกราฟิกอะไรก็ได้ที่ถนัด (ไม่ใช่โปรแกรมออฟฟิศประเภท Microsoft Word / PowerPoint นะ) ตามเงื่อนไขดังนี้ครับ

  • ไฟล์ภาพปกติ (.jpg, .psd) : เพื่อให้ได้เนื้องานที่มีความคมชัดกริ๊บๆ คุณจะต้องเตรียมไฟล์ที่มีความละเอียดอย่างต่ำ 200-300DPI เช่น อยากได้ลายสกรีนกว้าง 8 นิ้ว แสดงว่าต้องออกแบบลายที่มีความกว้างอย่างน้อย 8 x 300 = 2,400 pixel จ้ะ  *** แต่ถ้าต้องการผลิตงานเป็นแบบบล็อกสกรีน ต้องส่งมาเป็นไฟล์เวกเตอร์เท่านั้นนะ ***
  • ไฟล์เวกเตอร์ (.ai, .eps) : คือไฟล์กราฟิกที่ขยายเท่าไหร่ก็ไม่แตก เหมาะกับการทำโลโก้ ตราสัญลักษณ์ ตัวอักษร หรือภาพการ์ตูนลายเส้น …อ้อ อย่าลืมว่า ถ้าในไฟล์ที่ออกแบบนั้นมีการใช้ตัวอักษร ให้สั่ง “Create Outline” (ระเบิดตัวอักษรให้กลายเป็นเส้นๆ) ไม่งั้นเปิดเครื่องที่ไม่มีฟอนต์แล้วจะมองไม่เห็นครับ ลูกค้าเราลืมประจำเลย ><

ดูวิธีการ Create outline ได้ด้านล่างนี้เลยจ้ะ

ข้อควรระวังคือ ถ้าไฟล์ Ai มีภาพธรรมดา (jpg, png) แปะไว้ข้างใน เวลาขยาย ภาพก็จะยังแตกเบลอได้จ้ะ

ระบบสีที่ใช้ในงานสกรีน

  • เสื้อยืดสกรีนระบบดิจิทัล
    การออกแบบลายสกรีนในงาน สามารถทำได้อย่างอิสระ ละเอียดสวยงาม เนียนนุ่มละมุนตาใกล้เคียงภาพถ่ายจริง (เทียบเท่าการพรินต์แบบ Photo ลงบนกระดาษด้วยเครื่องอิงก์เจ็ต) เวลาส่งต้นฉบับไฟล์งาน ให้ระวังเรื่องระบบสีนะครับ งานสิ่งพิมพ์ทุกชนิดต้องใช้ระบบสีแบบ CMYK (ไม่ใช่ RGB) ถ้าเป็นไปได้คุณลูกค้าส่งมาเป็น CMYK เลยก็จะได้ต้นฉบับงานที่สีใกล้เคียงกับที่ต้องการครับ
  • เสื้อยืดผลิตตามสั่ง 100+ ตัว
    ลักษณะของสีที่ใช้ในเทคนิคซิลก์สกรีน (Silk Screen) นี้จะเป็น “สียาง” ปาดลงในบล็อกสกรีนครับ ซึ่งเนื้อสีจะถูกผสมด้วยเคมีที่เป็นลักษณะเฉพาะสำหรับงานสกรีน (ต่างจากงานดิจิทัลที่เป็นการผสมจากหมึกสี) สีทีไ่ด้จึงเป็นสีของหมึกยางเลย สดใสฉูดฉาดสะใจกว่าแบบแรก (เพียงแต่ข้อแม้คือ งานออกแบบจะต้องสกรีนเป็น “สีทึบ” เท่านั้น แดงก็แดง เขียวก็เขียวไปเลย ไล่เฉดสีไม่ได้) ถ้าต้องการให้สีออกมาเป๊ะ คุณลูกค้าสามารถเลือกสีได้ตามรหัสสีใน PANTONE เลยยิ่งดีครับ
  • ทั้งนี้ถ้าคุณลูกค้าซีเรียสเรื่องความเป๊ะของสี แนะนำให้ออกแบบงานด้วยจอภาพที่เที่ยงตรง อย่างน้อยเป็นจอของตระกูลแอปเปิลครับ แต่ทั้งนี้งานสกรีน หรือแม้แต่ร้านอัดภาพดิจิทัลก็ตาม เขาจะติดป้ายบอกว่าไม่รับประกันว่าสีจะตรงเป๊ะ 100% นะครับ เรื่องจากเรื่องการปรับจูน Color Profile เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมากครับ (จึงทำให้โรงพิมพ์ใหญ่ๆ เท่านั้นที่มีแล็บสีโดยเฉพาะ)

ความแตกต่างของสีแบบ RGB/CMYK

เมื่อเข้าใจวิธีการส่งไฟล์งานแล้ว หรือมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับงานออกแบบ เรายินดีให้คำปรึกษาฟรีครับ คุณสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือสั่งผลิตได้ที่กล่องข้อความของเพจร้านเลยจ้ะ